ศาลเจ้าพ่อทัพ
ในอดีตตำบลสำโรงเหนือเป็นตำบลใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ทางด้านการคมนาคม ในทางบก ใช้ถนนสุขุมวิท และรถราง (สายสมุทรปราการ - หัวลำโพง) (ปัจจุบันเป็นถนนวงแหวนอุตสาหกรรมหรือรถรางสายเก่า) และในด้านการคมนาคมทางน้ำใช้คลองสำโรง เป็นเส้นทางการเดินทางสายสำคัญ เนื่องจากคลองสำโรงเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำบางประกงกับแม่น้ำเจ้าพระยา ขนานชายฝั่งทะเล ดังนั้น ตำบลสำโรงเหนือ จึงเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคม ทั้งทางน้ำและทางบก
การขนส่งสินค้าทางน้ำเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวจะบรรทุก เรือเอี้ยมจุ้น พ่วงเป็นทางยาวเต็มลำคลอง ส่วนใหญ่จะล่องเรือไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำสินค้าไปขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย ตำบลสำโรงเหนือจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำ ที่มีทั้งเรือมอเตอร์โบ๊ท (เรือยนต์ ๒ ชั้น) เรือยนต์ทั่วไป เรือหางยาว และเรือรับจ้าง แล่นไปมาจากเส้นทาง บางบ่อ - บางพลี - สำโรง
ย้อนรอยสู่อดีตที่เล่าต่อกันมาว่า ชาวบ้านพบองค์เจ้าพ่อทัพลอยน้ำมาถึงยังบริเวณริมคลองสำโรง ด้วยบารมีและความศักดิ์สิทธิ์แห่ง องค์เจ้าพ่อทัพ ทำให้ชาวบ้านเกิดศรัทธาจึงได้ทำการอันเชิญองค์เจ้าพ่อทัพประทับ ณ ศาลเจ้าพ่อทัพ ที่ชาวบ้านได้สร้างขึ้นจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ศาลเจ้าพ่อทัพ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของบรรดาผู้ที่สัญจร ไป-มา ทางน้ำ ผู้ใดที่ผ่านมา จะต้องกราบไหว้ขอพรเพื่อให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ
มีเรื่องเล่าตอนหนึ่งเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เจ้าพ่อทัพว่า มีเรือขนข้าวลำหนึ่งได้แล่นผ่านศาลเจ้าพ่อทัพ คนเรือในขณะนั้นต่างมีอาการมึนเมาด้วยฤทธฺ์สุรา ทำให้พูดจาไม่สุภาพและแสดงกริยาที่ไม่แสดงความเคารพ ฉับพลันนั้นเรือก็ไม่สามารถแล่นต่อไปได้ และได้เกิดกระแสน้ำวนหมุนเอาตัวเรือกลับ แม้นนายท้ายเรือและลูกเรือจะช่วยกันบังคับเรือ แต่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถเดินเรือต่อไปได้ และยังเห็นจระเข้มาขวางคลองไว้ไม่ยอมให้ผ่านไป ทุกคนต่างตกใจ จึได้ทำการขอขมาลาโทษต่อ เจ้าพ่อทัพ และก้มลงกราบไหว้เหมือนเช่นชาวเรือทุกคนที่ผ่าน ศาลเจ้าพ่อทัพ จากนั้นจึงสามารถแล่นเรือต่อไปได้ด้วยดี จากเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงทำให้ไม่มีใครกล้าแสดงกริยาที่ไม่เคารพเวลาเดินทางผ่านบิเวณศาลเจ้าพ่อทัพอีก
จนถึงปัจจุบันการคมนาคมส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนจากทางน้ำ มาเป็นทางบกซะมากกว่า ทำให้การจะเดินทางไปเพื่อกราบไหว้ ศาลเจ้าพ่อทัพ นั้นยากยิ่งขึ่ง คือ ต้องเดินทางเข้าซอยวัดมหาวงษ์ (สำโรง) แล้วต้องเข้าซอยเล็ก ๆ กว้างประมาณ ๑ เมตร ที่อยู่เยื้องวัดมหาวงษ์ (สำโรง) ระยะทางประมาณ ๘๐๐ - ๙๐๐ เมตร ซึ่งไม่สะดวกนัก ทางคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อทัพจึงได้ทำการขอย้ายศาลเจ้าพ่อทัพเพื่อออกไปยังริมถนน ณ สถานที่ที่สามารถเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผล (เนื่องด้วยการใช้วิธีเสี่ยงทายโยนไม้กลับคว่ำหงาย ถ้าท่านยอม ให้ออกคว่ำอัน หงายอัน แต่โยนยังไงไม้กลับก็ออก คว่ำทั้งคู่ หรือไม่ก็ออกหงายทั้งคู่ตลอด) จนเมื่อปี ๒๕๔๘ ทางคณะกรรมการได้ทำการหาที่ดินบริเวณริมทางถนนรถรางสายเก่า ซึ่งติดกับคลองสำโรง (ซึ่งเป็นคลองสายเดียวกับที่ ศาลเดิมตั้งอยู่) และได้ทำการเสี่ยงทายเพื่อจะทำการย้ายศาลเจ้าพ่อทัพอีก แต่ผลออกมาเหมือนเดิม คือท่านไม่ยอมให้ทำการย้าย ทางคณะกรรมการจึงได้ทำการตกลงกันว่า จะขอเปลี่ยนจากการย้ายศาลมาเป็นการสร้างศาลสาขาแทนเพื่อสะดวกแก่ผู้ที่มากราบไหว้ จึงลองเสี่ยงทายพอขออนุญาิติและผลเป็นได้รับการอนุญาติให้สร้างได้
ผู้ก่อตั้งศาลเจ้าพ่อทัพ คือ นายดำรงค์ ยงค์สงวนชัย
ติดต่อ ๐๒-๗๓๙-๗๕๗๕ | เปิดทำการทุกวัน เวลา ๐๗:๐๐ - ๑๙:๐๐ น
ขอขอบคุณ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : https://www.chowportap.com/home.html
ข้อมูลภาพจาก : https://www.chowportap.com/